post-title

เด็กอนุบาล จำเป็นต้องเขียนหนังสือได้แล้วหรือยัง?

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญสำหรับเด็ก ที่คุณผู้ปกครองหลายๆท่านอาจเป็นกังวลนั่นก็คือพัฒนาการการเขียนหนังสือนั่นเอง เมื่อเด็กๆโตขึ้นถึงช่วงวัยหนึ่ง กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างกล้ามเนื้อมือจะมีพัฒนาการมากพอที่จะจับดินสอมาวาดเขียนเป็นรูปทรงต่างๆได้ แต่สำหรับการเขียนหนังสือนั้นไม่เพียงแต่อาศัยพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือ แต่ยังอาศัยพัฒนาการการเรียนรู้และความจำของเด็กด้วย วันนี้บทความของเราจะพาคุณผู้อ่านมาดูว่า เจ้าตัวน้อยของเรานั้นมีพัฒนาการการเขียนที่เป็นไปอย่างปกติเช่นเดียวกับเด็กๆคนอื่นหรือไม่ มีวิธีสังเกตอย่างไร เราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


พัฒนาการที่จำเป็นสำหรับการเขียนหนังสือ

พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก 

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าเด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมือที่แข็งแรง💪และมั่นคงพอประมาณในการขับดินสอขึ้นมาวาดเขียนให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างกล้ามเนื้อมือนั้น จะค่อนข้างพัฒนาได้เต็มที่เมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 5 ขวบค่ะ

เด็กต้องมีพัฒนาการเรียนรู้ในเรื่องที่ทิศทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย 

เข้าใจถึงการขยับมือไปซ้ายไปขวา ซึ่งจำเป็นต่อการเขียนตัวหนังสือค่ะ✍️

เด็กต้องมีพัฒนาการการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ตากับมือไปพร้อมๆกัน 

ในที่นี้ไม่ได้จำเป็นกับแค่การเขียนหนังสือ📖 แต่จำเป็นกับกิจกรรมแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันเลยค่ะ

เด็กต้องมีพัฒนาการเกี่ยวกับความทรงจำซึ่งความทรงจำในรูปแบบที่สร้างได้อย่างรวดเร็ว

ก็คือความทรงจำระยะสั้นนั่นเอง ความสามารถเกี่ยวกับความจำนี้จะถูกใช้ในการจดจำลักษณะตัวอักษร🔠 เพื่อนำไปใช้ในการลอกเลียนแบบเวลาเขียน หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการพัฒนาความทรงจำในส่วนนี้ให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว อันจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่จะช่วยได้คือหมั่นให้ลูกจดจำและทำซ้ำบ่อยๆ ฝึกฝนการเขียนบ่อยๆนั่นเองค่ะ


ลูกวัยอนุบาลจำเป็นต้องเขียนหนังสือได้หรือยัง

    หากอ้างอิงจากระบบการศึกษาของประเทศไทยเรา🇹🇭 ย้อนกลับไป หลายๆท่านอาจจำความได้ว่าตนเองเริ่มถูกฝึกให้ท่องพยัญชนะกอไก่ถือฮอนกฮูกกันตั้งแต่ชั้นอนุบาลหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ระดับการศึกษาภาคบังคับ และการหัดให้ท่องนั้นมักมาพร้อมกับการฝึกหัดให้เขียน และเข้าใจว่าตนเองน่าจะเขียนตัวอักษรได้ในช่วงอายุประมาณนั้นเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับลูกแล้ว เจ้าตัวน้อยบางคนยังไม่สามารถเขียนพยัญชนะเหล่านั้นได้ จึงกังวลว่าเด็กจะมีพัฒนาการการเขียนที่ล่าช้าผิดปกติ หากอ้างอิงจากหัวข้อก่อนหน้า ที่กล่าวว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กบริเวณมือของเด็กจะเจริญเติบโตได้ค่อนข้างเต็มที่ใน 5 ขวบ ก็พอจะบ่งบอกได้ว่าการที่เด็กๆบางคนยังเขียนหนังสือไม่ได้ในช่วงชั้นอนุบาลนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เรามาดูไปพร้อมๆกันดีกว่าค่ะ ว่าเด็กเล็กควรจะมีพัฒนาการการเขียนในแต่ละช่วงอายุเป็นอย่างไร

เด็กที่มีอายุช่วง 2-3 ปี

จะเป็นช่วงอายุที่เพิ่งจะเริ่มจับดินสอมาวาดเขียนเป็นเส้นต่างๆได้ แต่ก็ยังเป็นเส้นที่สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง เนื่องจากเป็นวัยที่ยังควบคุมกล้ามเนื้อมือได้ไม่ค่อยดีค่ะ🖐️ หากจะเทียบกับระดับการศึกษา เด็กอายุประมาณนี้จะเทียบได้กับเด็กในชั้นเตรียมอนุบาล (ยังไม่อนุบาล) หรือเป็นเด็กๆตามศูนย์เนิร์สเซอรี่นั่นเองค่ะ

เด็กที่มีอายุในช่วง 3-4 ปี

เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มบังคับกล้ามเนื้อมือให้วาดเขียนต่างๆ🎨ตามทิศทางที่ตัวเองต้องการได้มากยิ่งขึ้น เริ่มมีการเรียนรู้ที่จะเขียนตามรอยเส้นประ แต่เส้นจะยังไม่นิ่ง ประเมินน้ำหนักหนักและเบาของการลงเส้นไม่ได้ค่ะ ซึ่งหากเทียบเด็กในวัยนี้กับระดับชั้นการศึกษา บางคนก็จะยังอยู่ในเนิร์สเซอรี่อยู่ แต่บางคนก็จะเริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาลกันแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

เด็กที่มีอายุ 4-5 ปี 

วัยนี้จะมีพัฒนาการการเขียนที่มั่นคงมากขึ้น เริ่มลอกคำที่ชอบได้ แต่ยังสะกดไม่ถูกต้องบ้าง เขียนตัวอักษรไม่ถูกบ้าง เส้นยังไม่ตรงบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติค่ะถ้าอ้างอิงจากพัฒนาการที่ยังไม่ค่อยเต็มที่ของกล้ามเนื้อมือ🖐️ หากเปรียบเทียบกับระดับชั้นการศึกษา เด็กในวัยนี้ก็จะเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในชั้นอนุบาล แต่ยังไม่ขึ้นชั้นประถมตอนต้น ดังนั้นคุณผู้อ่านก็จะเห็นแล้วนะคะว่า เด็กในช่วงวัยนี้อาจยังเขียนหนังสือ หรือเขียนเป็นคำไม่คล่องได้ ยังถือว่าเป็นปกติอยู่

เด็กที่มีอายุในช่วง 5-7 ปี

สำหรับลายมือของเด็กในวัยนี้จะเริ่มอ่านรู้เรื่องมากขึ้น เส้นมีความมั่นคงมากขึ้น เริ่มเขียนเป็นคำสั้นๆได้และสะกดได้อย่างถูกต้อง หากจะเปรียบเทียบกับระดับชั้นการศึกษา เด็กในวัยนี้ก็คือเด็กที่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นั่นเองค่ะ ซึ่งนอกจากจะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างกล้ามเนื้อมือของเด็กพัฒนาได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างมือกับดวงตา👁️ที่ค่อนข้างเต็มที่เช่นเดียวกันค่ะ

     จะเห็นแล้วนะคะว่าปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กเล็กนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเสมอไป ขึ้นอยู่กับช่วยอายุของเด็กเองด้วย👶🏻 หากเป็นช่วงอายุที่เด็กยังมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ไม่เต็มที่ เด็กก็จะทำได้ไม่ค่อยดีเวลาฝึกฝน หากไม่จำเป็น คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ควรบังคับให้เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ภายในช่วงวัยอนุบาลก็ได้ค่ะ เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆควรได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากการออกไปเจอโลกภายนอก มากกว่าการถูกบังคับให้อ่านเขียนภายในหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น