post-title

ลูกเดินได้ช้า ทำยังไงดี?

     หนึ่งในปัญหาที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านอาจมีความกังวลก็คือปัญหาพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวน้อย👶ใช่ไหมคะ และสิ่งหนึ่งที่จะบ่งบอกได้คือความสามารถในการเดิน🚶‍♂️ หากเจ้าตัวน้อยเดินได้ช้าก็จะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองว่าลูกของเรามีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านร่างกายด้านไหนเป็นพิเศษหรือไม่ บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวกันค่ะ💁‍♀️


เมื่อไหร่ถึงบอกได้ว่าเด็กเดินได้ช้า

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่าเจ้าตัวน้อย👶จะสามารถเดินได้เองตอนอายุประมาณ 14 เดือนหรือช่วงอายุประมาณปีนิดๆนั่นเองค่ะ แต่กับเด็กบางคนนั้นก็สามารถเดินได้เร็วหรือช้ากว่านั้นได้ บางคนอาจเริ่มเดินได้ตั้งแต่มีอายุประมาณ 12 เดือนหรือหนึ่งปีเต็ม บางคนนั้นอาจเดินได้ช้าถึงขนาด 16-17 เดือนหรือประมาณปีครึ่งเลยก็เป็นไปได้เช่นเดียวกันค่ะ แต่หากเลยช่วงระยะเวลานั้นไปแล้ว และเจ้าตัวน้อยยังเดินไม่ได้ ประเด็นปัญหาเรื่องพัฒนาการการเคลื่อนที่ของเด็กก็จะเป็นที่น่ากังวล แต่อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่👫ก็อาจต้องดูปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กร่วมด้วย ปัจจัยดังกล่าวจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันต่อเลยค่ะ

พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเคลื่อนไหวโดยปกติของเด็ก

เด็กที่มีอายุในช่วง 3-4 เดือนจะสามารถพยุงตัวขึ้นจากพื้น เตรียมทำท่าคลาน🚼ได้ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นการนั่งและการยืนด้วยตนเองต่อไปในช่วงอายุประมาณ 5 เดือนค่ะ

เด็กที่มีอายุในช่วง 6-10 เดือนจะสามารถนั่งด้วยตนเองได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องพิงพนัก และสามารถคลานได้อย่างคล่องแคล่วในระดับหนึ่งค่ะ

เด็กที่มีอายุในช่วง 9-15 เดือนจะสามารถทำให้ตนเองลุกยืนขึ้นได้ค่อนข้างมั่นคง หรือเรียกว่าการตั้งไข่🥚นั่นเองค่ะ

เด็กที่มีอายุในช่วง 14-15 เดือนจะเริ่มเดิน🚶‍♂️ได้ด้วยตนเองแล้ว แต่อาจยังไม่คล่องแคล่วและไม่มั่นคงมากค่ะ

 ข้อควรปฏิบัติหากสงสัยว่าลูกมีปัญหาด้านพัฒนาการของร่างกาย

👉คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาและประเมินทักษะการเคลื่อนไหวรูปแบบอื่นๆของลูกประกอบความสามารถในการเดินค่ะ ยกตัวอย่างเช่นความสามารถในการเกาะและยืนได้ด้วยตนเอง ยืดตัวขึ้นลง ทักษะการจับสิ่งของ🧸 การคลาน การหมุนตัว การพลิกกลับตัว หากลูกทำได้ดี ไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไรก็อาจบ่งบอกได้ว่า เจ้าตัวน้อยของคุณพ่อคุณแม่เพียงแค่ต้องการเวลา🕓ในการหัดเดินมากกว่าเด็กคนอื่นๆนั่นเองค่ะ

👉หากคุณพ่อคุณแม่ได้พิจารณาและประเมินความสามารถต่างๆทางด้านการเคลื่อนไหวตามที่ได้กล่าวมาในหัวข้อด้านบนเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามีบางทักษะที่เป็นปัญหา ผู้ปกครองควรเข้ารับคำปรึกษาจากกุมารแพทย์ค่ะ👨‍⚕️

👉หากคุณแม่มีประวัติที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับสุขภาพการตั้งครรภ์🤰ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ จนไปถึงการคลอดก่อนกำหนด สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยทางด้านพัฒนาการของเด็กไ้ด้ค่ะ อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวที่ช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวลสามารถพาเจ้าตัวน้อยเข้ารับการประเมินพัฒนาการทางด้านกานเคลื่อนไหวกับกุมารแพทย์ได้เช่นเดียวกันค่ะ


วิธีการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการเดินของลูก

วิธีที่ 1️⃣

ตามที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าว่า ก่อนที่เจ้าตัวน้อยจะเริ่มลุกขึ้นและเดินได้ เด็กๆต้องเริ่มฝึกทรงตัวมาจากการเกาะเสียก่อนค่ะ ดังนั้นหากในบ้านมีเครื่องเล่นหรือมีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ🪑ที่มั่นคง ปลอดภัย และเอื้ออำนวยต่อการเกาะ ก็จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวอย่างการเกาะได้ และหากเริ่มเกาะได้เด็กก็จะเริ่มเดินไปเกาะไป เป็นการฝึกฝนทักษะการเดินไปในตัวค่ะ

วิธีที่ 2️⃣

หากลูกเริ่มเกาะเดินได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ลูกเลิกเกาะสิ่งของรอบตัว โดยการเปลี่ยนมาจับมือ🤝ลูกแล้วค่อยๆฝึกประคองให้เขาค่อยๆก้าวขาด้วยตนเอง จะทำให้ลูกกล้าปล่อยมือจากสิ่งของและเริ่มเดินด้วยขา🦵ตนเองอย่างมั่นใจมากขึ้นค่ะ

วิธีที่ 3️⃣

หากเริ่มสงสัยว่าลูกมีพัฒนาการทางด้านการเดินที่ช้า ให้ลองหาสาเหตุที่ช้า เพราะสาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมของผู้ปกครองเองก็ได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่นผู้ปกครองอาจอุ้มเด็ก🤱มากเกินไป ไม่ปล่อยให้เขาเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้รถช่วยเดิน เพราะเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างง่ายค่ะ

     จะเห็นแล้วนะคะว่าเด็กที่มีพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวอย่างการเดิน🚶‍♂️ที่ค่อนข้างช้านั้น ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เขาเดินได้เร็วขึ้นได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใจ เพราะกระตุ้นให้เด็กเดินเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรแล้วเด็กยังเดินไม่ได้ ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากกุมารแพทย์👨‍⚕️ค่ะ