post-title

การฉีดสีดูท่อนำไข่ควรทำตอนไหนดีนะ?

       คำว่า “สี” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสีในวิชาศิลปะที่เรารู้จักกันทั่วไป แต่หมายถึง “สารทึบรังสี” คุณผู้อ่านหลายท่านอาจไม่คุ้นเคยกับคำนี้ ไม่ทราบว่ามันคืออะไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องฉีด หรือมันเข้ามามีบทบาทเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้อย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ บทความนี้จะค่อยๆพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสารทึบรังสีและการใช้ประโยชน์ในเชิงการตรวจระบบสืบพันธ์ุเพศหญิงกันค่ะ


สารทีบรังสีคืออะไร

สารทึบรังสีเป็นสารที่....

แพทย์หรือนักรังสีการแพทย์จะนำเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยในส่วนที่ต้องการให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อทำการเอกซเรย์ ก็จะสามารถมองเห็นอวัยวะที่ได้รับสารทึบรังสี🩻อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่า การฉีดสารทึบรังสีเข้าอวัยวะของผู้ป่วยก็เปรียบเสมือนการใช้ปากกาเน้นคำ ไฮไลท์อวัยวะภายในที่แพทย์สนใจ ซึ่งในปัจจุบัน สารทึบรังสีเป็นสารที่ปลอดภัยต่อร่างกายของมนุษย์ และไม่ใช่ทุกการเอกซเรย์จำเป็นต้องใช้สารทึบรังสีค่ะ

บทบาทของสารทึบรังสีต่อการตรวจภายใน

ปัจจุบันสารทึบรังสีถูกนำมาใช้ในการตรวจอย่างแพร่หลาย หนึ่งในเทคนิคที่ใช้สารทึบรังสี คือ การฉีดสีเพื่อตรวจท่อนำไข่ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “Hysterosalpingography” หรือสามารถเรียกย่อๆได้ว่า HSG โดยแพทย์จะให้คุณผู้หญิงที่ต้องทำการตรวจภายในขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ขาหยั่ง หลังจากนั้นจะสอดเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อเปิดช่องคลอดและทำความสะอาดมดลูก ต่อจากนั้นแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเข้าไปภายในมดลูกเพื่อใส่สารทึบรังสีเข้าภายใน และทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบการไหลของสี ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถตรวจสอบรูปร่างทั่วไปของมดลูกได้ และมีส่วนช่วยในการตรวจ🔍วินิจฉัยภาวะมีบุตรยากได้ค่ะ


ผลข้างเคียง? ควรตรวจช่วงไหน?

ผลข้างเคียงของการทำ HSG

ในคุณผู้หญิงที่ไม่มีความปกติของสุขภาพอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการตรวจ คุณผู้หญิงอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างกระปิดกระปอย แต่คุณผู้หญิง👩ที่มีภาวะท่อนำไข่อุดตันอาจต้องพบเจอกับอาหารปวดเบาๆ แต่มักเป็นไม่นานค่ะ ส่วนน้อยอาจมีอาการติดเชื้อ ซึ่งสังเกตได้จากตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติหลังการตรวจ 2-4 วัน บางรายอาจมีอาการแพ้สารทึบรังสี แต่สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมากค่ะ เพราะแพทย์จะมีวิธีการทดสอบก่อนฉีดสารทึบรังสีอยู่แล้ว

ควรตรวจ HSG ช่วงไหน และต้องเตรียมตัวอย่างไร    

ช่วงเวลาที่เหมาะกับการตรวจจะเป็นช่วง 7-12 วันหลังมีประจำเดือนครั้งล่าสุดค่ะ สิ่งสำคัญคือต้องมั่นใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ในระหว่างตรวจ ในส่วนของการเตรียมตัว คุณผู้หญิงอาจทำการรับประทานยาแก้ปวด💊ในกลุ่ม NSAID 400-600 มิลลิกรัมได้ค่ะ เพราะระหว่างฉีดจะมีแรงดันภายในมดลูกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยทำให้เกิดอาการปวดเบาๆ และควรงดกิจกรรมทางเพศหลังวันมีประจำเดือนครั้งล่าสุดจนไปถึงวันที่ตรวจเลยค่ะ

    จะเห็นได้ว่าวิธีการดังกล่าวค่อนข้างต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัว และต้องมีการวางแผนก่อนตัดสินใจตรวจ ไม่สามารถตรวจอย่างปุบปับได้หากมีเงื่อนไขทางสุขภาพร่างกายไม่เหมาะสม แต่คุณผู้หญิงที่ต้องการตรวจไม่ต้องกังวลค่ะ หากได้ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตรวจ แพทย์จะสามารถเลือกช่วงเวลาในการตรวจที่เหมาะสม และพิจารณาถึงผลข้างเคียงของการตรวจ คุณผู้หญิงก็จะมีแพทย์ช่วยประเมินข้อดีข้อเสียค่ะ ว่าควรตรวจหรือจำเป็นต้องตรวจหรือไม่