post-title

สารให้ความหวานในน้ำอัดลมก่อให้เกิดมะเร็ง?

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยืนยันการจำแนกสารให้ความหวานเทียม แอสปาร์แตมเป็นสารที่ 'มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์' หรือ 'Possibly carcinogenics to humans' ในวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้  📢 ในขณะที่ข้อโต้แย้งด้านความปลอดภัยยังคงดำเนินต่อไป แต่ก็กล่าวได้ว่าแอสปาร์แตมสามารถพบได้ในอาหารและเครื่องดื่มหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มลดน้ำหนัก เจลาติน หมากฝรั่ง ไอศกรีม ยาสีฟัน ยาอมแก้ไอ ผลิตภัณฑ์จากนม แล้วแบบนี้เราจะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ สารนี้จะหายไปจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเลยหรือไม่ คุณแม่หลายๆท่านกำลังสับสนกับเรื่องนี้🤰🏻 บิลลี่ จึงขออาสามาเช็กข้อเท็จจริงค่ะ!😉


ทำความรู้จักกับแอสปาร์แตม

🍹แอสปาร์แตม.....

มีรสหวานกว่าน้ำตาล 200 เท่า แทบไม่มีแคลอรีเลย🙅🏻‍♀️ หลายๆท่านอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อของแอสปาร์แตม ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถพบเจ้าแอสปาร์แตมนี้ในชีวิตประจำวันของเราได้ โดยสารนี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากได้รับการอนุมัติในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2524 จึงเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้อาหารมีรสหวาน 👅 ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

โดยปัจจุบันยังคงมีการใช้ในอาหารและเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ อย่าง Coke Zero, Diet Coke หมากฝรั่ง ลูกอม โยเกิร์ต ไอศรีม ซอส และขนมอีกหลากหลายชนิด แต่ไม่นานมานี้องค์กรอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศให้เจ้าสารที่ถูกใช้ในเชิงเพื่อสุขภาพ กลายเป็นสารก่อมะเร็งแทน ข่าวนี้ทำให้ผู้อ่านหลายๆท่านหนักใจ เพราะเราต่างต้องเคยบริโภคสารนี้กันทั้งนั้น 


รู้จักประเภทของสารก่อมะเร็ง

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ WHO ได้ประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นสารที่ 'มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์' หรือ 'Possibly carcinogenics to humans'💥 ในวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้  โดย IARC ได้ระบุให้แอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งในระดับ 2B ซึ่งการนิยามสารก่อมะเร็งของ IARC สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับใหญ่ๆดังนี้

ระดับที่ 1 

เป็นสารกลุ่มที่มีหลักฐานบ่งชี้มากพอในเชิงสถิติ ว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ สารกลุ่มนี้ตามกฎหมายและข้อกำหนดขององค์กรอาหารและยาในแต่ละประเทศ จะต้องไม่ถูกเติมหรือมีการปนเปื้อนในอาหารอยู่แล้ว มักเป็นสารที่ถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและวัสดุอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ได้แก่ สารหนูหรืออาร์เซนิค หรือสารในกลุ่มเบนซีนค่ะ

ระดับที่ 2A 

เป็นสารกลุ่มที่มีหลักฐานงานวิจัยออกมายืนยันเช่นกันว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ยังถือว่ามีจำนวนงานวิจัยที่น้อย จึงได้แต่ใช้คำว่า “มีแนวโน้มที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์” แทน ยังไม่สามารถยืนยันได้เพราะยังมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือไม่เพียงพอค่ะ อย่างไรก็ตามสารในกลุ่มนี้ก็ยังมีหลักฐานบ่งชี้เพียงพอว่าก่อมะเร็งได้ในสัตว์ทดลองค่ะ ยกตัวอย่างเช่นซิลิกาที่ใช้ทำซองดูดความชื้นนั่นเองค่ะ

ระดับที่ 2B

เป็นสารที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ส่วนหนึ่งบ่งชี้ว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะยืนยัน ในกรณีของการก่อมะเร็งในสัตว์ก็มีแต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าสามารถก่อมะเร็งได้เช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งเจ้าแอสปาร์แตมเองก็อยู่ในกลุ่มนี้ นั่นทำให้เราสามารถตีความได้ว่า ทางองค์กรอนามัยโลกให้ข้อมูลว่าแอสปาร์แตมอาจจะก่อมะเร็งทั้งในสัตว์และในคน แต่ยังเป็นหลักฐานที่มีจำนวนน่าเชื่อถือไม่เพียงพอ เมื่อคำนวณความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติค่ะ

ระดับที่ 3 

เป็นสารที่ยังไม่มีข้อมูลว่าสามารถก่อมะเร็งได้ทั้งในร่างกายมนุษย์เองและร่างกายของสัตว์ค่ะ


สรุปแล้วแอสปาร์แตมอันตรายแค่ไหน

แอสปาร์แตมก่อมะเร็งจริงหรือไม่?

โดยความจริงแล้วสารระดับ 2B นั้นสามารถพบได้ในส่วนผสมในของที่เรารับประทานหรือใช้กันในชีวิตประจำวัน🍽️ อย่าง กรดคาเฟอิกในกาแฟ ว่างหางจระเข้ น้ำมันมะพร้าว รวมถึงกิมจิและผักดองอื่นๆด้วย ซึ่งคนไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับสารทดแทนความหวาน หลักฐานจึงยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าแอสปาร์แตมจะทำให้เราเป็นมะเร็งจริงๆ แม้กระทั่งหลักฐานในสัตว์ทดลองเองก็ยังไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะยืนยันได้ จึงสามารถสรุปได้ว่า ไม่ได้ห้ามบริโภคเป็นอาหาร และไม่ได้หมายความว่าการรับประทานแอสปาร์แตมจะทำให้เกิดมะเร็ง แต่มีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดปริมาณในการรับประทานสารให้ความหวานเทียมค่ะ🙌🏻  

ยังสามารถรับประทานน้ำอัดลม 0% ได้หรือไม่?

ยังสามารถรับประทานได้ค่ะ โดยค่าที่ปลอดภัยในการรับประทานแอสปาร์แตมจะอยู่ที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม👀 หากจะพูดให้เห็นภาพ หากคุณผู้อ่านมีน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัมนั่นหมายความว่าคุณผู้อ่านสามารถรับประทานแอสปาร์แตมได้ในปริมาณที่ปลอดภัยไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในน้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหนึ่งกระป๋อง มักใส่แอสปาร์แตมไม่เกิน 300 มิลลิกรัม นั่นแปลว่าคุณผู้อ่านสามารถรับประทานน้ำอัดลมชนิดนั้นได้ประมาณ 6-7 กระป๋องโดยประมาณเลย ซึ่งนับเป็นปริมาณที่ค่อนข้างเยอะมากต่อวัน หากไม่ได้ติดน้ำอัดลมกลุ่มนี้ เรามักจะกินไม่ถึงปริมาณที่มีความเสี่ยงว่าจะก่อมะเร็งอยู่แล้วค่ะ🫡 


ข้อควรระวังสำหรับผู้ปกครอง

🍹สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์

จากการศึกษาที่ประกาศโดย American Society for Reproductive Medicine ในปี 2559 📑 สารให้ความหวานเทียมในเครื่องดื่ม 0% จะลดความสามารถของผู้หญิงในการปฏิสนธิและส่งผลต่อสุขภาพของเซลล์ไข่ โดยหากบริโภคในระหว่างตั้งครรภ์ ว่ากันว่าอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอัดลมที่มีระดับน้ำตาลสูงหากเป็นไปได้นะคะ!🙅🏻‍♀️

🍹 แล้วคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูกอยู่ล่ะ?

หากคุณมีโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่าฟีนิลคีโตนูเรีย (PKU) ซึ่งไม่สามารถเผาผลาญแอสปาร์แตมได้ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการรับประทานสิ่งที่มีแอสปาร์แตม 🚫 โดยไม่ใช่เพียงคุณแม่และลูกน้อยเท่านั้นที่ควรเลี่ยง แต่ยังรวมถึงแม่ที่วางแผนหรือกำลังตั้งครรภ์ด้วย ในกรณีของทารกแรกเกิด ทารกจะได้รับการทดสอบที่โรงพยาบาลหลังคลอด ดังนั้นหากมีความผิดปกติก็สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นไม่ต้องกังวลจนมากเกินไปนะคะ!

แม้ว่ากระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาจะได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารให้ความหวาน แต่คุณพ่อคุณแม่บางคนก็ยังคงกังวล ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องแอสปาร์แตม หัวหน้าสำนักโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของ WHO แนะนำว่าควรพิจารณา 'การดื่มน้ำแทนเครื่องดื่มที่มีรสหวาน🥛' แทนที่จะมองหาของหวานอื่นทดแทน ลองเลิกนิสัยชอบความหวานและพึ่งพาอาหารแปรรูป แล้วหันมาใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพกันดูนะคะ 💖